สบน.เปิดตัวพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน |
Monday, 04 November 2024 22:55 | |||
สบน.เปิดตัวพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน ชูบทบาทนำประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีแผนที่จะออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ครั้งแรกของรัฐบาลไทย เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับพันธกิจของ สบน. ที่มุ่งเน้นการระดมทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับพันธสัญญาในความตกลงปารีส (Paris Agreement) และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ด้านขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อให้คุณสมบัติของพันธบัตรดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล สบน. ได้จัดทำกรอบการระดมทุนส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond Financing Framework) ที่สอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนดโดย International Capital Market Association (ICMA) และ ASEAN Capital Market Forum (ACMF) โดยได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก DNV ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ให้ความเห็นอิสระระดับสากล (Second Party Opinion) ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของกรอบการดำเนินงานของ สบน. โดยกรอบการระดมทุนครอบคลุมถึงการกําหนดตัวชี้วัด (Key Performance Indicators: KPIs) และเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainable Performance Targets: SPTs) เงื่อนไขและรายละเอียดของพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน แนวทางและหลักเกณฑ์ในการวัดผลและรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายความยั่งยืนของพันธบัตรดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ในการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืน สบน. ได้กำหนด KPIs หลัก และ SPTs ที่สำคัญ 2 ด้าน ดังนี้ : ตัวชี้วัด (KPIs) เป้าหมาย (SPTs) 1. ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้)ไม่เกิน 388,500 ktCO2e ในปี พ.ศ. 2573 (คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 จากค่า Business As Usual (BAU)) 2. ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ (Passenger Car and Pick-Up Trucks)ไม่ต่ำกว่า 440,000 คัน ในปี พ.ศ. 2573 สำหรับลักษณะพิเศษเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนจะแตกต่างจากพันธบัตรทั่วไป โดยระดับความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) ที่กำหนดจะเป็นปัจจัยกำหนดการปรับอัตราดอกเบี้ย กล่าวคือ ในกรณี ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น หรือ ในกรณีที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง โดยมีสรุปรายละเอียดการปรับอัตราดอกเบี้ย ดังนี้ : การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น การปรับอัตราดอกเบี้ยลง หาก SPT 1 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย :ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 2.5 bps หาก SPT 1 สามารถบรรลุเป้าหมาย : ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 2.5 bps หาก SPT 2 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย :ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 2.5 bps หาก SPT 2 สามารถบรรลุเป้าหมาย : ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 2.5 bps ในการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนครั้งนี้ สบน. จะดำเนินการออกพันธบัตรรุ่น SLB406A อายุ 15 ปี ในวงเงิน 20,000 - 30,000 ล้านบาท ผ่านผู้จัดจําหน่าย 4 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จํากัด (มหาชน) ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ประกอบด้วย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกรมการขนส่งทางบก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) Global Green Growth Institute (GGGI) และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ที่ร่วมกันออกแบบและพัฒนารูปแบบและเงื่อนไขของพันธบัตรให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการบรรลุเป้าหมายของ UNSDGs ได้อย่างเหมาะสม การออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทย โดย สบน. ได้กำหนดให้พันธบัตร SLB406A เป็น Benchmark Bond รุ่นอายุ 15 ปี ด้วย ทั้งนี้ สบน. จะดำเนินการสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้ (Book Building) ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 และเสนอขาย (Issue Date) ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 สบน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างดี และนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ที่ยั่งยืนต่อไป
|
Today | 622 | |
All days | 622 |
Comments