ดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น138.01จุด |
![]() |
![]() |
![]() |
Tuesday, 23 January 2024 07:41 | |||
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในวันจันทร์ (22 ม.ค.)ที่ 38,001.81 จุด เพิ่มขึ้น 138.01 จุด หรือ +0.36%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,850.43 จุด เพิ่มขึ้น 10.62 จุด หรือ +0.22% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,360.29 จุด เพิ่มขึ้น 49.32 จุด หรือ +0.32% โดยดาวโจนส์และ S&P500 ต่างก็ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขานรับแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ รวมทั้งรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ปิดเหนือระดับ 38,000 จุดเป็นครั้งแรก ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นวันที่ 2 โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นบริษัทผลิตชิปที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ ซึ่งรวมถึงหุ้นอินวิเดียที่ดีดตัวขึ้น 0.3% และปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ควินซี ครอสบี นักวิเคราะห์จากบริษัท LPL Financial ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา กล่าวว่า นักลงทุนรอดูผลประกอบการและการคาดการณ์แนวโน้มรายได้ของบริษัทเทคโนโลยี เพื่อประเมินว่าบริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูงจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดได้ต่อไปหรือไม่ นอกเหนือจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนแล้ว นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 25 ม.ค.นี้ และจะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนธ.ค.ในวันศุกร์ที่ 26 ม.ค. นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า GDP ไตรมาส 4/2566 ของสหรัฐจะขยายตัว 2.0% หลังจากมีการขยายตัว 2.2%, 2.1% และ 4.9% ในไตรมาส 1, 2 และ 3 ตามลำดับ นอกจากนี้ คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนธ.ค. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
|
![]() | Today | 913 |
![]() | All days | 913 |
Comments