ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลง458.13จุด |
Friday, 30 September 2022 11:38 | |||
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) ที่ 29,225.61 จุด ลดลง 458.13 จุด หรือ -1.54%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,640.47 จุด ลดลง 78.57 จุด หรือ -2.11% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,737.51 จุด ลดลง 314.13 จุด หรือ -2.84% เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดปริวรรตเงินตราและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรสหรัฐเผชิญกับแรงเทขายอีกครั้ง หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนซึ่งรวมถึงนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ยังคงสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงฟื้นตัว แม้ว่าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 193,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 213,000 ราย ฟิล บลองคาโต นักวิเคราะห์จากบริษัทเธลแมนน์ แอสเซท แมเนจเมนท์กล่าวว่า ข้อมูลแรงงานล่าสุดนี้ถือเป็นข่าวดีในข่าวร้าย เนื่องจากจำนวนคนว่างงานที่ลดลงเป็นการตอกย้ำว่าเฟดยังคงมีช่องทางที่จะดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป สิ่งที่ตลาดหวั่นวิตกในขณะนี้ก็คือ นโยบายการเงินของเฟดจะทำให้ให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง และจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งความกังวลเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้น สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 โดยระบุว่า GDP สหรัฐหดตัว 0.6% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ขณะที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ระบุว่า เศรษฐกิจหดตัว 0.9% ส่วนในไตรมาส 1 นั้น GDP สหรัฐหดตัวลง 1.6% ทั้งนี้ การที่ GDP หดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
|
Today | 2103 | |
All days | 2103 |
Comments