ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลง300.14จุด |
![]() |
![]() |
![]() |
Wednesday, 10 June 2020 08:17 | |||
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืนนี้ (9 มิ.ย.) ที่ 27,272.30 จุด ลดลง 300.14 จุด หรือ -1.09% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,207.18 จุด ลดลง 25.21 จุด หรือ -0.78% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,953.75 จุด เพิ่มขึ้น 29.01 จุด หรือ +0.29% เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากดาวโจนส์พุ่งขึ้นติดต่อกัน 6 วันทำการ อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ยังคงปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย นักวิเคราะห์จากบริษัทฮาร์เวสต์ โวลาทิลิตี้ แมเนจเมนท์ ในรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่า นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากตลาดทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์ซึ่งดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 800 จุด ขานรับตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย รวมทั้งความหวังที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ นักลงทุนจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอย่างใกล้ชิด หลังจากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในเดือนก.พ. โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐยุติช่วงการขยายตัวที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี NBER คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบนี้ นอกจากจะมีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ยังทำสถิติช่วงเวลาสั้นที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ย นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด จะจัดการแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมในครั้งนี้ โดยคาดว่าเขาจะเน้นย้ำว่าเฟดจะยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยไม่จำกัดวงเงินและเวลา เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาด สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวขึ้น 4.5 จุด สู่ระดับ 94.4 ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 965,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 5.0 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2557 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
|
![]() | Today | 1129 |
![]() | All days | 1129 |
Comments