สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
Print
Friday, 06 October 2017 09:33

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐกำลังจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ขัดขวางแผนการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐและสมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกัน หลังจากมีการนำเสนอแผนปฏิรูปภาษีนี้ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยนายบ็อบ คอร์เคอร์ วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันกล่าวว่า เขาจะไม่สนับสนุนแผนปฏิรูปภาษีนี้ ถ้าหากแผนดังกล่าวส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐพุ่งสูงขึ้น ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐเป็นอุปสรรคขัดขวางโครงการใช้จ่ายเงินสำคัญหลายโครงการของรัฐบาลกลาง ซึ่งรวมถึงโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขยายกองทัพ และขณะนี้ยอดขาดดุลงบประมาณก็เป็นภัยคุกคามต่อข้อเสนอปรับลดภาษีของปธน.ทรัมป์ด้วย นายบ็อบ คอร์เคอร์กล่าวว่า "ผมคิดว่าคณะผู้บริหารของปธน.ทรัมป์ขาดความกล้าหาญ และคิดว่าประธานคณะกรรมาธิการด้านภาษีบางคนก็ขาดความกล้าหาญ ผมรู้สึกผิดหวังกับการขาดความกล้าหาญในช่วงนี้" ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือการที่รัฐบาลกลางของสหรัฐมียอดขาดดุลงบประมาณ 5.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และมีหนี้สินสูงกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหนี้ดังกล่าวเกิดจากการสะสมของยอดขาดดุลในอดีตและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแก่เจ้าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ แผนภาษีที่พรรครีพับลิกันเปิดเผยออกมาในสัปดาห์ที่แล้วเรียกร้องให้มีการปรับลดภาษี 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้รายรับของรัฐบาลกลางลดลงเป็นอย่างมาก และแผนภาษีนี้ไม่ได้เสนอมาตรการปรับลดรายจ่ายเพื่อชดเชยในส่วนนี้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้หมายความว่า แผนปรับลดภาษีของปธน.ทรัมป์จะส่งผลให้ยอดขาดดุลและหนี้สินของรัฐบาลพุ่งขึ้นสูงมาก

ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 1.2% หลังจากลดลง 3.3% ในเดือนกรกฎาคม มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% สำหรับยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบินเพิ่มขึ้น 1.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 1.3% ในเดือนก่อน โดยยอดสั่งซื้อดังกล่าวได้รับการจับตาว่าเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่น และแผนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ

นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า Fed มีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และเงินเฟ้อมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นอีก พร้อมระบุว่าไม่จำเป็นต้องเห็นการปรับตัวของเงินเฟ้อเพื่อที่จะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ ตราบใดที่ข้อมูลอื่นๆให้คำตอบว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อไป พร้อมยังระบุว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวควรมีการปรับตัวขึ้น ขณะที่ Fed ทำการปรับลดงบดุลในระยะยาว

วุฒิสภาสหรัฐมีมติให้การรับรองนายแรนดัล คาร์ลส์ เป็นสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หรือเป็นหนึ่งในคณะผู้ว่าการของ Fed ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้เสนอชื่อนายคาร์ลส์ สำหรับการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ นายคาร์ลส์สนับสนุนการผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงินที่มีการกำหนดขึ้น หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินก่อนหน้านี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของปธน.ทรัมป์ นายคาร์ลส์จะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับระบบธนาคารสหรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่เดียวกับนายแดเนียล ทารุลโล ก่อนที่จะประกาศลาออกในเดือนเมษายน

ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯในเดือนสิงหาคมลดลง 2.7% สู่ระดับ 4.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ขาดดุล 4.36 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐจะขาดดุลการค้า 4.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% สู่ระดับ 1.953 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2014  ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการลดลง 0.1% สู่ระดับ 2.377 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2016 ทั้งนี้ สหรัฐขาดดุลการค้าต่อจีนเพิ่มขึ้น 4.0% สู่ระดับ 3.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2015

ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ในสัปดาห์ที่แล้วลดลง 12,000 ราย สู่ระดับ 260,000 ราย ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 265,000 ราย โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 135 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1970 ส่วนตัวเลขยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกโดยเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักเคลื่อนที่ 4 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 9,500 ราย สู่ระดับ 268,250 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ย. มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2,000 ราย อยู่ที่ระดับ 1.94 ล้านราย ซึ่งอยู่ต่ำกว่า 2 ล้านราย เป็นสัปดาห์ที่ 25 ติดต่อกัน

 

ยุโรป: ยูโรโซน

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าที่ประชุมได้มีการหารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายเวลาโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ไปยังปีหน้า และแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของยูโร ซึ่งปัจจุบัน ECB ทำการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ที่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน จนถึงเดือนธ.ค. ขณะที่ตลาดการเงินคาดว่า ECB อาจขยายเวลาออกไปอีก 6-9 เดือน พร้อมกับปรับลดวงเงิน QE สู่ระดับ 4 หมื่นล้านยูโร/เดือน นอกจากนี้ กรรมการ ECB ยังได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับการดีดตัวขึ้นของยูโรซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ

 

เอเชีย : จีน

นายหลี่ กั๋นเจี่ย รมว.สิ่งแวดล้อมของจีนกล่าวในระหว่างเยือนมณฑลที่มีอุตสาหกรรมหนัก 4 มณฑลในภาคเหนือของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศรุนแรงว่า จีนกำลังประสบกับปัญหาในการบรรลุเป้าหมายต่อสู้กับกลุ่มหมอกควันในปีนี้  จีนประกาศว่าจะลดการกระจุกตัวของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 โดยเฉลี่ยลงมากกว่า 15% ในฤดูหนาวนี้จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วใน 28 เมืองทางภาคเหนือ เขากล่าวในระหว่างเยือนมณฑลเหอเป่ย, ชานซี, ชานตง และเหอหนาน   ว่าปัจจุบันการควบคุมมลภาวะทางอากาศกำลังเป็นงานที่ท้าทายและยุ่งยาก ในเขตเมืองหลวง ซึ่งรวมปักกิ่ง, มณฑลเหอเป่ย และเมืองเทียนจิน คุณภาพอากาศใน 13 เมืองของเขตนี้ย่ำแย่ลงในเดือนส.ค.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยค่า PM2.5 เพิ่มขึ้น 5.4%

 

ฟิลิปปินส์

สำนักงานสถิติแห่งชาติของฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ในเดือนก.ย.เนื่องจากต้นทุนอาหาร, เชื้อเพลิง และการขนส่งที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนก.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 3.2% แต่ก็ยังคงอยู่ภายในตัวเลขคาดการณ์ที่ 2.8-3.6% ของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ในเดือนก.ย.

 

ออสเตรเลีย

สำนักงานสถิติออสเตรเลีย (ABS) เปิดเผยว่า ผู้ค้าปลีกของออสเตรเลียมียอดขายลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2013 ขณะที่ผู้บริโภคทำการรัดเข็มขัดโดยลดการใช้จ่ายด้านอาหาร, เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า ซึ่งไม่เป็นผลดีสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกลดลง 0.6% ในเดือนส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.3% และข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ถูกปรับทบทวนเป็นลดลง 0.2% ยอดค้าปลีกที่ลดลง 0.8% ในเดือนก.ค.และส.ค.เป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2010

 

ไทย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.อยู่ที่ 75.0 จาก 74.5 ใน ส.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นฯที่เพิ่มขึ้น ในก.ย. เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังเศรษฐกิจไทยในอนาคต จะดีขึ้นตามการส่งออก และการท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง อีกทั้งการลงทุนภาครัฐที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนผู้บริโภคส่วนใหญ่ เริ่มคลายกังวลสถานการณ์การเมือง และเห็นว่าในอนาคตจะมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่มาก เนื่องจากยังกังวลต่อราคาพืชผลทางการเกษตรในขณะนี้ ที่ส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัด ขยายตัวในระดับต่ำ การสำรวจความเห็นประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจนั้น ระดับดัชนีที่สูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังเห็นว่าภาวะการณ์นั้นๆ อยู่ในระดับปกติ แต่หากดัชนีต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภครู้สึกไม่มั่นใจต่อระบบเศรษฐกิจ

 

Money Market

- ดอลลาร์/บาท วันพฤหัส (5 ตค.) เงินบาททรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ โดยเงินบาทชะลอการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงนี้หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากปัจจัยเรื่องการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคมปีนี้ อย่างไรก็ดีเนื่องจากทั้งเรื่องเพดานหนี้และแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯยังไม่มีความแน่นอนดังนั้นนักลงทุนจึงระมัดระวังมากขึ้นต่อการที่อาจจะมีมุมมองในเชิงบวกต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมากเกินไป อย่างไรก็ดีในช่วงตลาดสหรัฐฯดอลลาร์สหรัฐฯได้ปรับแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทและหลายสกุลเงินหลังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีขณะที่นักลงทุนรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯคืนนี้

- ดอลลาร์/เยน วันพฤหัส (5 ตค.) เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้เนื่องจากแม้ว่านักลงทุนจะคาดการณ์มากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งของธนาคารกลางสหรัฐฯในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ว่าปัจจัยหลายอย่างที่อาจมีผลต่อดอลลาร์สหรัฐฯในอนาคตยังไม่แน่นอนทั้งเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้และลดภาษีของสหรัฐฯ รวมไปถึงเรื่องการตั้งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯและกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯในปีหน้า อย่างไรก็ดีในช่วงตลาดสหรัฐฯดอลลาร์สหรัฐฯได้ปรับแข็งค่าหลังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

- ยูโร/ดอลลาร์ วันพฤหัส (5 ตค.) เงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในสหรัฐฯโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสถานะทางด้านการคลังที่มีความเสี่ยงที่อาจจะมีหนี้สาธารณะสูงขึ้นมากๆได้ ขณะที่การเพิ่มเพดานหนี้ล่าสุดก็ยังมีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ดีดอลลาร์สหรัฐฯได้ปรับแข็งค่าในช่วงตลาดสหรัฐฯ

 Capital Market

- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันพฤหัส (5  ตค.) ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับตัวขึ้นในวันพฤหัสบดี โดยดัชนี S&P 500 ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นวันที่ 6 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997 ขณะที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการปฏิรูปภาษี เนื่องจากสภาคองเกรสใกล้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณ หลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติงบประมาณรายจ่ายปี 2018 ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 0.50% สู่ระดับ 22,775.39, ดัชนี S&P 500 ปิดเพิ่มขึ้น 0.56% สู่ระดับ 2,552.07 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวขึ้น 0.78% สู่ระดับ 6,585.36

- ตลาดหุ้นเอเชีย วันพฤหัส (5 ตค.) ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดบวก 0.01% สู่ระดับ 20,628.56 ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังมากขึ้นก่อนการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ เช่น รายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้ สำหรับตลาดหุ้นจีนปิดทำการตั้งแต่วันที่ 2-6 ต.ค.นี้เนื่องในวันชาติ และจะเปิดทำการอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 9 ต.ค.ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกงก็ปิดทำการวันนี้ เนื่องจากเป็นวันหยุดประจำชาติ

- ตลาดหุ้นไทย วันพฤหัส ( 5 ตค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ลดลงในช่วงแรกก่อนที่จะเพิ่มขึ้นและเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆตลอดวันในวันนี้ โดยวันนี้มีแรงซื้อมากในหุ้นกลุ่มอาหาร พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และมีแรงขายมากในหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยปิดตลาดวันนี้ SET INDEX เพิ่มขึ้น 3.10 จุด

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 6 ต.ค. 2560

Written by :
กระแสหุ้นออนไลน์
 

Comments

avatar Antonimt
0
 
 
http://theelderscrolls5skyrimevolution225.ru/
theelderscrolls5skyrimevolution225.ru
Post Reply
B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
Cancel
B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment